การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการออนไลน์หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และยืนยันว่ากิจการนั้น ๆ ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นร้านค้าที่มีมาตรฐานและตัวตนอยู่จริง โดยการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ซึ่งระบุว่าผู้ทำการขายสินค้า/บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP) ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting) และธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้า/บริการผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Marketplace) ต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเมื่อจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการจะได้รับเครื่องหมายจากกรมธุรกิจการค้าเพื่อนำไปแสดงไว้บนเว็บไซต์ของตนเอง ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
- เครื่องหมาย DBD Registered คือ เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นเครื่องหมายที่ใช้รับรองว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลได้จดทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้าแล้ว
- เครื่องหมาย DBD Verified คือ เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่แสดงว่าเว็บไซต์ของผู้ประกอบการมีคุณสมบัติและมีคุณภาพผ่านการประเมินตามมาตรฐานคุณภาพธุรกิจ E-commerce
ทั้งนี้ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนภายใน 30 วันหลังจากเริ่มประกอบกิจการจะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท และปรับไม่เกินวันละ 100 บาทจนกว่าจะถูกต้องตามกฎหมาย
ทำไมต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีข้อดีหลายประการ อาทิ
- สร้างความน่าเชื่อถือ
การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องแสดงว่าผู้ประกอบการมีการดำเนินธุรกิจออนไลน์อย่างถูกกฎหมาย มีตัวตนในระบบ และมีสถานที่ตั้งของสำนักงาน ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่มีการจดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จึงช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าในการซื้อสินค้า/บริการ หรือทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น
- ตรวจสอบได้
เมื่อจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการจะได้รับเครื่องหมายในรูปแบบ Source Code ซึ่งสามารถนำไปแสดงไว้บนเว็บไซต์หรือเพจต่าง ๆ โดยเมื่อมีการคลิกที่เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบจะเชื่อมโยงมายังฐานข้อมูลกรมฯ และแสดงข้อมูลทางทะเบียนของผู้ประกอบการ ลูกค้าจึงสามารถตรวจสอบสถานะและการมีตัวตนของผู้ประกอบการได้
- สร้างเครดิต
การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยสร้างเครดิตให้กับผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ที่มีต่อสถาบันการเงิน ทำให้สามารถระดมทุนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อเงินกู้ ยื่นขอกู้เงินทุนหมุนเวียน หรือแม้แต่การขอสินเชื่ออื่น ๆ ก็สามารถใช้ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานประกอบการยื่นเอกสารทางการเงินได้
- ได้เผยแพร่ร้านค้าบนเว็บไซต์ของกรมธุรกิจการค้า
หลังการจดทะเบียน กรมธุรกิจการค้าจะนำรายชื่อเว็บไซต์ที่ขึ้นทะเบียนมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลแยกตามประเภทธุรกิจผ่านเว็บไซต์ www.dbd.go.th/edirectory เพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ จึงเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง
- สามารถขอ Trustmark ได้
ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว สามารถยื่นขอใช้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (Trustmark) ได้ ซึ่งเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือนี้จะมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าเครื่องหมาย Registered โดยจะออกให้แก่เว็บไซต์ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเท่านั้น เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
- สิทธิพิเศษต่าง ๆ
ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมหลักสูตรการอบรมหรือสัมมนา ได้รับคำแนะนำ และข้อมูลข่าวสารด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งกรณีที่มีการเยียวยาหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าในภาวะวิกฤติต่าง ๆ อย่างการระบาดของโควิด-19 ก็จะได้รับความช่วยเหลือ เป็นต้น
เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
แม้การมีร้านค้าออนไลน์ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนนิติบุคคล แต่การจดทะเบียนนิติบุคคลนั้นช่วยให้ผู้ประกอบการออนไลน์สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านภาษี เนื่องจากฐานภาษีของนิติบุคคลจะต่ำกว่าบุคคลธรรมดา ดังนั้น ก่อนยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการควรดำเนินการจดทะเบียนบริษัททั่วไปเสียก่อน จากนั้นจึงยื่นจดทะเบียนพาณิชย์เล็กทรอนิกส์ โดยจัดเตรียมเอกสารดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
- แบบฟอร์มจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)
- เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.)
- รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ เช่น หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้า/บริการ วิธีการสั่งซื้อ วิธีการชำระเงิน วิธีการจัดส่งสินค้า ฯลฯ
- เอกสารการจดโดเมนเนม
- แผนที่ตั้งสถานประกอบการ
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีดังต่อไปนี้
- สร้างเว็บไซต์ของธุรกิจให้เรียบร้อยและพร้อมออนไลน์ เช่น การอัปโหลดรูปสินค้า คำบรรยาย ราคา วิธีชำระเงิน วิธีจัดส่ง หรือข้อมูลอื่น ๆ ให้ครบถ้วน โดยมีเวลายื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบการ
- ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามที่ตั้งของสถานประกอบการหรือตามที่อยู่ของผู้ประกอบการ
- ยื่นเอกสารเพื่อขอใช้เครื่องหมาย DBD Registered โดยการส่งสำเนาใบจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว (แบบ พค. 0403) และสำเนาเอกสารการจดโดเมนเนมไปที่ e-commerce@dbd.go.th ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะได้รับเอกสารหรือ E-mail แจ้งเตือนให้ธุรกิจสามารถนำสัญลักษณ์ DBD ไปใช้บนเว็บไซต์ของธุรกิจ
บริการรับจดทะเบียนบริษัท ราคายุติธรรม โดยทีมงานมืออาชีพ PMP Serve (Thailand) Co., Ltd.
PMP SERVE (THAILAND) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับจดทะเบียนบริษัท ยินดีให้คำปรึกษาและให้บริการรับจดทะเบียนบริษัทจำกัด พร้อมรับจดทะเบียนบริษัทให้กับธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ จดทะเบียนบริษัทธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้า จดทะเบียนบริษัทธุรกิจบริการ จดทะเบียนบริษัทธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ฯลฯ รับจดทะเบียนบริษัทโดยทีมงานคุณภาพที่มากด้วยทักษะและประสบการณ์ในการรับจดทะเบียนบริษัทอย่างยาวนานที่จะช่วยให้การจดทะเบียนบริษัทของท่านเป็นไปอย่างรวดเร็ว ราบรื่น และถูกต้องตามหลักของกฎหมายด้วยการดำเนินการแทนท่านทุกขั้นตอนด้วยบริการจดทะเบียนบริษัท ราคายุติธรรม การันตีด้วยประสบการณ์กว่า 17 ปีในการให้บริการรับจดทะเบียนบริษัทจำกัด บริการให้คำปรึกษาและคำแนะนำในทุกแง่มุมของการจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างละเอียด ถูกต้อง และชัดเจน พร้อมให้บริการรับทำบัญชี รับตรวจสอบบัญชี รับวางแผนภาษี วางระบบบัญชี บริการที่ปรึกษาธุรกิจ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม
Line : @pmpserve
Facebook : https://www.facebook.com/pmpserve
Tel : 065 – 492 -2283
ที่มา
https://www.dbd.go.th/download/ecommerce_file/pdf/e-commerce_manual_570428.pdf
https://www.ar.co.th/kp/th/532
https://www.dbd.go.th/download/ecommerce_file/pdf/dbd_ecommmanual_openshopoonline_6202.pdf
https://www.dbd.go.th/download/data_srevice/คำชี้แจงการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์.pdf