การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ของคนไทยที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี โดยผู้ที่มีเกณฑ์ต้องยื่นภาษีจะต้องรวบรวมเอกสารจำเป็นให้ครบถ้วน แล้วนำไปยื่นที่กรมสรรพากรหรือผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนใครที่กำลังสงสัยว่าสิทธิลดหย่อนภาษี ปี 2565 มีอะไรบ้าง ทีมงาน PMP SERVE (THAILAND) ได้รวบรวมสิทธิลดหย่อนภาษีปี 2565 พร้อมเทคนิคลดหย่อนภาษีอย่างไรให้คุ้มค่ามาฝากทุกท่านแล้วในบทความนี้
ความสำคัญของการวางแผนลดหย่อนภาษี
สำหรับผู้ที่มีเกณฑ์ต้องยื่นภาษีสามารถขอเงินภาษีคืนได้ด้วยการวางแผนลดหย่อนภาษี 2565 ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ซึ่งค่าลดหย่อนภาษีดังกล่าวเป็นสิทธิพิเศษที่รัฐต้องการจะสนับสนุนประชาชนในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเป็นประจำทุกปี ดังนั้น ผู้ที่มีเกณฑ์ต้องยื่นภาษีจึงควรศึกษาเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีดังกล่าวก่อนเสมอเพื่อที่จะได้วางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างเหมาะสม และช่วยให้เสียภาษีน้อยลง และได้รับเงินคืนอีกด้วย
กำหนดการยื่นภาษี 2565
สำหรับกำหนดการยื่นภาษี 2565 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จนถึง 31 มีนาคม 2566 ส่วนการยื่นผ่านช่องทางออนไลน์จะสิ้นสุดในวันที่ 8 เมษายน 2566
สรุปรายการสิทธิลดหย่อนภาษี 2565 สิทธิลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง
1.สิทธิลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว สูงสุด 60,000 บาท ทุกคนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไข
- ค่าลดหย่อนคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้น สูงสุด 60,000 บาท สูงสุด 1 คน
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุด 60,000 บาท สามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้
- ค่าลดหย่อนภาษีบุตร สูงสุดคนละ 30,000 บาท ซึ่งต้องเป็นบุตรตามกฎหมาย(ลดหย่อนได้ตามจำนวนบุตรจริง) หรือบุตรบุญธรรม (สูงสุด 3 คน) และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 20-25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปีขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส
- บิดามารดาของตนเอง สูงสุดคนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีในปีภาษีนั้น และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
- มารดาของคู่สมรส สูงสุดคนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน จะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรมของคู่สมรส และคู่สมรสไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น
- ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น สูงสุดคนละ 60,000 บาท ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดามารดา บุตร หรือคู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองประเภท
2.สิทธิลดหย่อนจากเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม สาธารณประโยชน์ และสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคพรรคการเมือง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
3.สิทธิลดหย่อนจากเบี้ยประกัน
- เงินประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง โดยในปี 2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม จึงจะลดหย่อนได้สูงสุด 6,300 บาท หรือตามจำนวนเงินสมทบจริง
- เบี้ยประกันชีวิต เงินฝากแบบมีประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพและเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
4.สิทธิลดหย่อนจากการออมและลงทุน
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยได้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
5.ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
- โครงการช้อปดีมีคืน 2565 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ลดหย่อนภาษีปี 2565 ลดหย่อนอย่างไรให้คุ้มค่า
สำหรับเทคนิคการลดหย่อนภาษี 2565 นั้น สามารถทำได้หลายวิธี คือ
- ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ
นอกจากจะเป็นการคุ้มครองความเสี่ยงแล้ว ยังสามารถนำไปลดหน่อยภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิตแบบบำนาญอีกสูงสุด 200,000 บาท
- ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพถือเป็นเงินเก็บที่มีโอกาสได้กำไร และยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท
- ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม
กองทุน SSF เป็นกองทุนที่จะมาแทนกองทุน LTF โดยกองทุน SSF ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 500,000 บาท
- ซื้อบ้านและคอนโดฯ
ดอกเบี้ยในการผ่อนบ้านหรือคอนโดฯ สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 100,000 บาท
PMP SERVE (THAILAND) ให้บริการด้านภาษีอากรอย่างครบวงจร
PMP SERVE (THAILAND) ให้บริการด้านภาษีอากรอย่างครบวงจรเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระอันยุ่งยากของทุกท่านเกี่ยวกับภาษีและส่วนเกี่ยวข้องกับภาษี บริการรับยื่นแบบภาษีที่ได้มาตรฐานและถูกต้องตามกฎหมายอย่างครบวงจร ในราคาเหมาะสม เรามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและทีมงานที่มากด้วยประสบการณ์ในการยื่นแบบภาษีที่จะช่วยให้ท่านสามารถเตรียมพร้อมในการเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ตรงเวลา ป้องกันปัญหาการชำระภาษีล่าช้าหรือไม่ครบถ้วน สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้อย่างเต็มที่ พร้อมได้รับเงินคืนกลับมาใช้ประโยชน์ด้านการลงทุนและวางแผนทางการเงินได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย