สิ่งที่ต้องรู้ และควรรู้เมื่อเป็นห้างหุ้นส่วนสำหรับเจ้าของธรุกิจ

ทำความเข้าใจความหมายของห้างหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วนคืออะไร?

ห้างหุ้นส่วน คือ การที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงทำการค้าร่วมกันเพื่อแสวงหากำไรและแบ่งผลกำไรจากการดำเนินกิจการนั้น โดยผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ ซึ่งหากเป็นการลงหุ้นด้วยทรัพย์สินหรือแรงงาน จำเป็นต้องตีราคาเป็นจำนวนเงิน ทั้งนี้ ห้างหุ้นส่วนมี 2 ประเภท คือ

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทเดียว คือ หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด โดยหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมด ห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ ถ้าจดทะเบียนจะเรียกว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ ห้างหุ้นส่วนที่มีหุ้นส่วน 2 ประเภท ได้แก่

  • หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด จะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ โดยหุ้นส่วนแต่ละคนรับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่ตนลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด
  • หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด จะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ โดยหุ้นส่วนแต่ละคนรับผิดร่วมกันในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมด

ทั้งนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องจดทะเบียนและจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

ห้างหุ้นส่วน ตั้งชื่ออะไรดี?

สำหรับการตั้งชื่อห้างหุ้นส่วนเพื่อจะนำชื่อไปใช้ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย หรือเอกสารอย่างอื่นที่ใช้ในธุรกิจของห้างหุ้นส่วน จะต้องมีคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” หรือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ประกอบชื่อ ในกรณีที่ประสงค์ใช้เป็นอักษรต่างประเทศต้องใช้คำที่มีความหมายว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” หรือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ประกอบชื่อ เช่น ถ้าใช้ชื่อเป็นอักษรภาษาอังกฤษต้องมีคำว่า “Registered Ordinary Partnership” หรือ “Limited Partnership” ประกอบชื่อ เป็นต้น

สิ่งที่ต้องรู้ และควรรู้เมื่อเป็นห้างหุ้นส่วนสำหรับเจ้าของธรุกิจ

  • จัดทำบัญชี

ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี โดยจะให้หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มีดังนี้

  1. จัดทำบัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท บัญชีสินค้า และบัญชีประเภทอื่นตามความจำเป็นแก่การทำบัญชีตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วน
  2. ต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายเพื่อเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วน ซึ่งอาจเป็นพนักงาน ผู้รับจ้างทำบัญชีอิสระ หรือสำนักงานบริการรับทำบัญชี ซึ่งเป็นผู้ที่จบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี หรือเทียบเท่าเป็นผู้ทำบัญชี ยกเว้นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถให้ผู้ที่จบไม่ต่ำกว่าอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่าเป็นผู้ทำบัญชีก็ได้ ซึ่งห้างหุ้นส่วนจะต้องควบคุมดูแลผู้ทำบัญชีให้จัดทำบัญชีให้ตรงต่อความเป็นจริงและเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
  3. ต้องส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี ได้แก่ บันทึก หนังสือหรือเอกสารใด ๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการลงรายการในบัญชีให้แก่ผู้ทำบัญชีให้ครบถ้วนถูกต้องเพื่อให้บัญชีที่จัดทำขึ้นสามารถแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
  4. ต้องปิดบัญชีครั้งแรกภายใน 12 เดือนนับแต่วันเริ่มทำบัญชี และปิดบัญชีทุกรอบ 12 เดือนนับแต่วันปิดบัญชีครั้งก่อน เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนรอบปีบัญชีจากสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีแล้ว อาจปิดบัญชีก่อนครบรอบ 12 เดือนก็ได้
  5. จัดทำงบการเงิน ประกอบด้วยงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน หมายเหตุประกอบงบการเงิน และงบการเงินเปรียบเทียบกับปีก่อน และต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็น เว้นแต่ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน ไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ไม่ต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงิน

อย่างไรก็ตาม ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภงด. 50) ต่อกรมสรรพากร ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ยังคงต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภงด. 50) พร้อมรายงานการตรวจสอบ และรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือผู้สอบบัญชีภาษีอากรด้วย

  1. เมื่อผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินแล้ว ให้นำส่งงบการเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายในห้าเดือนนับแต่วันปิดบัญชี
  2. ต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไว้ที่สำนักงานแห่งใหญ่ หรือสถานที่ที่ใช้ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำ หรือสถานที่ที่ใช้เป็นที่ทำงานประจำเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันปิดบัญชี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีให้เก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่อื่น แต่ถ้าบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ต้องแจ้งสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหายหรือเสียหาย โดยทั้งหมดนี้ ให้ยื่นเรื่องผ่านระบบงานการอนุญาต (DBD e-Permit)
  • การเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียน

เมื่อห้างหุ้นส่วนจะเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนไม่ว่าจะเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน ตัวผู้เป็นหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้จัดการ ข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และ/หรือสำนักงานสาขา วัตถุประสงค์ ตราของห้างหุ้นส่วน รายการอื่น ๆ ที่เห็นสมควรจะให้ประชาชนทราบ ผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องตกลงให้ความยินยอมด้วยกันทุกคน แล้วให้หุ้นส่วนผู้จัดการยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายการที่เปลี่ยนแปลงนั้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท

  • การเลิกและชำระบัญชี

เมื่อมีความประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วน ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทำข้อตกลงเลิกร่วมกันเพื่อกำหนดวันที่ต้องการเลิกห้างหุ้นส่วนและตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อทำหน้าที่ชำระสะสางทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วน จากนั้นให้เป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีในการดำเนินการ ดังนี้

  1. จัดทำคำขอไปยื่นจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เลิกและต้องลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกัน พร้อมกับส่งจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์แจ้งไปยังเจ้าหนี้ทุกคน
  2. จัดทำงบการเงินส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง แล้วเรียกประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อรับรองให้ผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไป หรือจะแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีใหม่และอนุมัติงบการเงิน
  3. ถ้ามีการเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชีใหม่ หรือแก้ไขอำนาจผู้ชำระบัญชี หรือแก้ไขที่ตั้งสำนักงานของผู้ชำระบัญชี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงด้วย การจดทะเบียนเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชีหรือแก้ไขอำนาจผู้ชำระบัญชี ต้องไปจดทะเบียนภายใน 14 วันนับจากวันที่ได้มีการเปลี่ยนตัวหรือวันลงมติ
  4. จัดทำรายงานการชำระบัญชียื่นต่อนายทะเบียนทุก 3 เดือนเพื่อแสดงความเป็นไปของบัญชีที่ชำระอยู่ และรายงานนี้ต้องเปิดเผยให้ผู้เป็นหุ้นส่วน และเจ้าหนี้สามารถตรวจดูได้โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมด้วยแต่หากการชำระบัญชีต้องใช้เวลานานกว่าหนึ่งปี ผู้ชำระบัญชีต้องเรียกประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนในเวลาทุกสิ้นปีนับแต่วันที่เริ่มทำการชำระบัญชีและทำรายงานต่อที่ประชุมว่าได้จัดการไปอย่างไร พร้อมทั้งบอกให้ทราบความเป็นไปของบัญชีโดยละเอียด 5. เมื่อผู้ชำระบัญชีได้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนเสร็จสิ้นแล้ว ต้องทำรายงานสรุปการดำเนินการชำระบัญชีตั้งแต่ต้น แล้วเรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานและชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม เมื่อที่ประชุมได้อนุมัติรายงานนั้นแล้วให้จัดทำคำขอไปยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีภายใน 14 วันนับแต่วันที่ประชุมอนุมัติรายงาน ซึ่งเมื่อได้จดทะเบียนแล้วถือว่าการชำระบัญชีสิ้นสุดลง และห้างหุ้นส่วนนั้น ย่อมสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคล

PMP Serve (Thailand) Co.,Ltd. บริการรับตรวจสอบบัญชี รับทำบัญชี ยื่นภาษี ต่อใบการอนุญาตเข้าประเทศ รับทำใบการอนุญาตทำงาน (Work permit) บริการที่ปรึกษา

PMP SERVE (THAILAND) คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการด้านบัญชีและภาษี รับจดทะเบียนบริษัท รับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด รับจดขอภาษีมูลค่าเพิ่ม รับจด VAT รับทำบัญชี รับตรวจสอบบัญชี รับวางแผนภาษี วางระบบบัญชี บริการที่ปรึกษาธุรกิจ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม อาทิ บริการรับตรวจสอบบัญชี รับทำบัญชี ยื่นภาษี ต่อใบการอนุญาตเข้าประเทศ รับทำใบการอนุญาตทำงาน (Work permit) บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ ดูแลท่านโดยนักบัญชีและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีประสบการณ์ในการทำงานยาวนาน ร่วมกับทีมงานคุณภาพที่มากด้วยทักษะและประสบการณ์การทำงานในราคามิตรภาพ บริการให้คำปรึกษาและคำแนะนำในทุกแง่มุมของการดำเนินธุรกิจ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ด้วยประสบการณ์กว่า 17 ปีในวงการด้านบัญชี ภาษี และการเงิน เราจึงมีความมั่นใจในการให้บริการที่มีคุณภาพ ถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการ องค์กร ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่ ทุกประเภทกิจการของประเทศไทย เรายินดีให้คำปรึกษาและบริการแก่ท่านผู้ประกอบการทุกท่าน

ที่มา: https://www.dbd.go.th/download/goodgov_file/ebook61/e-book61.pdf

Scroll to Top