เลิกกิจการ ปิดบริษัท ปิด หจก. ต้องทำอย่างไร?

ด้วยพิษเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคร้ายและปัญหาเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก หลายกิจการพยายามแบกรับผลขาดทุนยาวนานนับปีจนต้องตัดสินใจปิดกิจการในท้ายที่สุด แต่การเลิกกิจการ ปิดบริษัท ปิด หจก. นั้นก็มีขั้นตอนการจดทะเบียนเลิกและการชำระบัญชีหลายขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งผู้ประกอบทุกคนควรให้ความสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

เลิกกิจการ เลิกบริษัท เลิก หจก. มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

การเลิกกิจการ ปิดบริษัท ปิด หจก. นั้นอาจไม่ง่ายเหมือนตอนเปิด เนื่องจากมีขั้นตอนต้องดำเนินการหลายประการ โดยการเลิกกิจการ ปิดบริษัท ปิด หจก. จะต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายทั้งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งก่อนจะไปแจ้งเลิกกับหน่วยงานต่าง ๆดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการดังนี้

  1. การเลิกและขอจดทะเบียนเลิกบริษัท

นิติบุคคลที่มีความประสงค์จะเลิกกิจการในกรณีที่เกิดจากความประสงค์ของผู้ถือหุ้นเอง จะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยจัดให้มีประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติเลิกกิจการ จึงจะสามารถยื่นจดทะเบียนเลิกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ โดยขั้นตอนที่จะเลิกและการจดทะเบียนเลิกมีดังนี้

  • เมื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการตกลงปิดบริษัท เลิกบริษัท ต้องออกหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อให้มีมติพิเศษในการเลิกบริษัท ซึ่งการออกหนังสือดังกล่าวจะต้องทำก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 14 วันเพื่อนัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยจะต้องพิมพ์โฆษณาลงในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 1 คราว และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น
  • จัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นจะต้องมีมติพิเศษให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมและมีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน และต้องมีการพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีด้วย
  • หลังจากจัดประชุมเสร็จแล้วจะต้องประกาศลงในหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ครั้ง และส่งหนังสือบอกกล่าวเจ้าหนี้ (ถ้ามี) ภายใน 14 วัน นับจากวันที่มีมติเลิกบริษัท
  • แต่งตั้งผู้ชำระบัญชี เพื่อดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชีของบริษัท เช่น การรวบรวมทรัพย์สิน ชำระหนี้ ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายที่กรรมการได้ออกไปในการดำเนินกิจการค้าแทนบริษัท ทั้งนี้ ผู้ชำระบัญชีจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วันนับจากวันที่มีมติเลิกบริษัท
  1. การชำระบัญชีและขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี

เมื่อเลิกกิจการหรืออยู่ในระหว่างดำเนินการชำระบัญชี บริษัทยังมีหน้าที่ดังนี้

  • จัดทำงบการเงิน ณ วันเลิกบริษัท หรือวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเลิก โดยให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นว่าถูกต้อง
  • นัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อยืนยันตัวตนผู้ชำระบัญชีและอนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิก โดยต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 7 วันก่อนประชุมและส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น
  • จัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยในวันประชุมต้องมีมติในการอนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการและอนุมัติการชำระบัญชี
  • ผู้ชำระบัญชีชำระสะสางทรัพย์สิน เรียกเก็บเงินลูกหนี้ ชำระหนี้สิน และจ่ายค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีของบริษัท หากมีเงินคงเหลือให้คืนทุนแก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่ถือหุ้นหรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
  • ออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
  • ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อมีมติอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
  • ผู้ชำระบัญชีจัดการทำคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 14 วันนับจากมีมติเสร็จการชำระบัญชี

เลิกกิจการ เลิกบริษัท เลิก หจก. ต้องไปติดต่อหน่วยงานไหนบ้าง?

หน่วยงานที่ต้องไปติดต่อเมื่อมีการเลิกกิจการ เลิกบริษัท เลิก หจก. มีดังนี้

  1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  • จดทะเบียนเลิก ซึ่งจะได้รับหนังสือรับรองจดทะเบียนเลิกกิจการเพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการดำเนินการแจ้งเลิกอีก 2 หน่วยงาน คือ กรมสรรพากรและสำนักงานประกันสังคม
  • จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี หากไม่สามารถชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับแต่วันเลิก ให้ผู้ชำระบัญชียื่นรายงานการชำระบัญชี (แบบ ลช.3) ทุก 3 เดือน
  1. กรมสรรพากร

หลังจดทะเบียนเลิกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากบริษัทมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องไปดำเนินการแจ้งเลิกกิจการที่กรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้จดทะเบียนเลิกต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อคืนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหลักฐานอื่น รวมถึงยื่นแบบภาษีต่าง ๆ ตลอดจนนำส่งงบการเงิน ณ วันจดทะเบียนเลิกกิจการ ดังนี้

  • นำส่งแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 พร้อมงบการเงิน ณ วันจดทะเบียนเลิกกิจการภายใน 150 วันนับจากวันที่จดทะเบียนเลิก
  • นำส่งแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 และ 53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากวันที่จดทะเบียนเลิกให้ครบถ้วน เช่น การหัก ณ ที่จ่าย ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี เป็นต้น
  • นำส่งแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40 ) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกในกรณีที่มีบัญชีดอกเบี้ยค้างรับหรือดอกเบี้ยในงบการเงิน
  • ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับ “หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษี” จากกรมสรรพากร
  1. สำนักงานประกันสังคม

กรณีที่นายจ้างเลิกกิจการ นายจ้างต้องทำหนังสือแจ้งพนักงานที่จะเลิกจ้างล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 งวด พร้อมจ่ายค่าจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามอายุการทำงานในอัตราที่กฎหมายกำหนด และให้แจ้งเลิกกิจการโดยยื่นแบบการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส.6-15) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง ณ สำนักงานประกันสังคมที่สถานประกอบตั้งอยู่

PMP Serve (Thailand) บริการจดทะเบียนเลิกกิจการ เลิกบริษัท เลิก หจก.

จะเห็นได้ว่าการเลิกกิจการ เลิกบริษัท เลิก หจก. นั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร สำหรับผู้ประกอบการหรือนิติบุคคลที่ต้องการความสะดวกสบาย PMP Serve (Thailand) พร้อมช่วยคุณจดทะเบียนเลิกกิจการ เลิกบริษัท เลิก หจก. ชำระบัญชี ทำงบการเงินและตรวจสอบบัญชีโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการเลิกกิจการ เลิกบริษัท เลิก หจก. ยินดีให้คำปรึกษาและให้บริการจดทะเบียนเลิกกิจการ เลิกบริษัท เลิก หจก. และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม

ที่มา:

https://www.dbd.go.th/download/data_srevice/intro_step_bj_dissolve.pdf

Scroll to Top